เป็นระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งการอุบัติขึ้นของเหตุการณ์ข้างต้นได้ผลักดันให้ทุกภาคส่วนเกิดการปรับตัวอย่างรุนแรง ทั้งในระดับครัวเรือน ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ

        การปรับตัวดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นด้วยการปรับจากความเต็มใจ หากแต่เป็นการปรับตัวที่เกิดมาจาก “ความจำเป็น” และมี “ความอยู่รอด” เป็นเดิมพัน เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากภาวะวิกฤตทำให้องค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตามที่ไม่วางแผนในการปรับตัวจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในยุคความปกติใหม่หรือ New Normal ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป

        โดยสิ่งสำคัญที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดขึ้นไปพร้อม ๆ กับมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มข้น ได้แก่ แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกมิติของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยระบบออนไลน์ การทำงานแบบออนไลน์ภายในที่อยู่อาศัย รวมถึงรูปแบบทางการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น

        ทั้งนี้ การที่รูปแบบพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายได้เปลี่ยนแปลงไป ได้ส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมการจัดประชุม และนิทรรศการ หรือไมซ์ (MICE) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการจัดงานอีเว้นท์ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก (Mass Participation) ไม่ตอบโจทย์ต่อการดำเนินชีวิตของบรรดาผู้เข้าร่วมงานที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

        ในทำนองเดียวกัน การจัดนิทรรศการหรือดำเนินงานอีเว้นท์โดยปราศจากการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยไม่ถือเป็นที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมงานให้เกิดความสนใจดั่งเช่นในอดีต โดยเฉพาะกลุ่มผู้เข้าร่วมงานที่ประสงค์จะสัมผัสประสบการณ์อันแปลกใหม่ เพราะประชากรส่วนมากคุ้นชินกับการใช้งานเทคโนโลยี และกลายเป็นพฤติกรรมรูปแบบใหม่ที่ผนวกเข้ากับชีวิตประจำวันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้

        อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ที่เป็นที่หนักใจของทุกภาคส่วนกลับไม่ได้นำมาซึ่งผลกระทบด้านลบแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้ภาคธุรกิจต่างแสวงหาทางออกใหม่ ๆ ให้แก่ปัญหาที่ตนได้เผชิญผ่านการลองผิด ลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน

        โดยวิธีการที่เป็นที่ประจักษ์ที่สุดว่าสามารถพิชิตพิษโควิด-19 ได้ คือการคิดค้นนวัตกรรมที่ซึ่งสามารถ “ปรับ” และ “เปลี่ยน” วิถีการดำเนินงานแบบเก่า ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคธุรกิจมีความได้เปรียบเชิงแข่งขันในด้านการสร้างมูลค่า ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคุณค่าจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์พัฒนานวัตกรรมทั้งสิ้น

        หนึ่งในตัวอย่างของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมแก้ไขรูปแบบการดำเนินงานดังเดิม ได้แก่การปรับจุดสัมผัสหลัก (Key Touch Points) จากระบบอนาล็อก ก้าวสู่ “ระบบอัตโนมัติ” ภายในสายงานการจัดเมกะอีเว้นท์ (Mega Events) ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างรุนแรงที่สุดในสายงานไมซ์ เนื่องจากต้องจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมงานจากที่เคยรองรับได้มหาศาล ทั้งยังต้องเพิ่มมาตรการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการเข้าใช้พื้นที่

        โดยระบบอัตโนมัติดังกล่าวประกอบด้วย เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไร้การสัมผัส เครื่องจ่ายสารทำความสะอาดมือระบบอัตโนมัติ และการอำนวยความสะดวกในการชำระเงินซื้อสินค้าในรูปแบบไร้เงินสด (Cashless) ซึ่งต้องชำระเงินผ่านอุปกรณ์มือถือเท่านั้น

        การกระทำข้างต้นนอกจากจะทำให้ผู้จัดงานสามารถบริหารจัดการนิทรรศกาลได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังสามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้เข้าร่วมงานมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากเชื้อโรคร้ายอย่างแท้จริง

        ในทำนองเดียวกัน การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับงานไมซ์ให้มีความแปลกใหม่ ทันสมัย และใช้งานได้จริง ถือเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงและเป็นที่สนใจของหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถดึงดูดสายตาของบรรดากลุ่มเป้าหมายได้จากทั่วทั้งโลก

        กระแสข้างต้น ได้นำมาซึ่งการก่อกำเนิดการจัดอีเว้นท์รูปแบบใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอีเว้นท์เสมือนจริง (Virtual) และอีเว้นท์ภายในจักรวาลนฤมิตร (Metaverse) ที่กลายเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของเหล่าผู้จัดงานในการสร้างสรรค์นิทรรศกาลให้ตอบโจทย์และดึงดูดผู้ร่วมงานได้ไม่ต่างกับการเข้าร่วมอีเว้นท์จริง

        โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ Virtual Conference, Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) ได้มีบทบาทหลักในการจัดนิทรรศกาลรูปแบบดังกล่าวซึ่งจะสามารถช่วยเสริมสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ ๆ ทั้งยังรองรับผู้เข้าร่วมงานได้หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้นด้วย

        ตัวอย่างข้างต้นถือเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ ที่ผู้ประกอบการไมซ์ต้องเผชิญในการขับเคลื่อนธุรกิจยุคโควิด และชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ในการเข้ามาเป็นตัวช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ และเกิดผลลัพธ์จริงที่ตอบโจทย์แต่ละธุรกิจ

        ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ได้มองเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการในวงการไมซ์จำนวนมาก จึงได้ริเริ่มโครงการ MICE Winnovation เพื่อผลักดันวงการไมซ์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลผ่านการสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการไมซ์ในการนํานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาแบบครบวงจร

        การดำเนินการข้างต้นเกิดขึ้นจากการที่ TCEB เล็งเห็นว่า การที่ภาคธุรกิจมีเทคโนโลยีที่ล้ำนำสมัยประกอบกับการใช้งานนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมจะนำไม่ได้นำพามาซึ่งชัยชนะสำหรับในยุค New Normal ในปัจจุบันแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการปูทางการปรับตัวต่อไปยังยุค Next Normal ในอนาคตได้อย่างสง่างาม

        โดย TCEB ได้วางแผนการปูทางการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยอย่างรอบด้าน เริ่มตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการไมซ์ในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการยอมรับใช้นวัตกรรม ไปจนถึงการส่งเสริมการนํานวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปใช้จริงเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจอย่างยั่งยืน ทั้งยังต้องการการเสริมความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมไมซ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกด้วย